ระบบการประเมินแบบ 360 องศา เอามาใช้ในองค์กรดีหรือไม่


วัตถุประสงค์ของการประเมินแบบ 360 องศานั้น ก็คือ การขอความเห็นจากบุคคลที่สาม ที่ไม่ได้อยู่ในสายการบังคับบัญชา เพื่อที่จะค้นหาเหตุผล และหลักฐานในการทำงาน หรือพฤติกรรมต่างๆ ในการทำงานของพนักงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เราประเมินผลงานพนักงานคนนั้นได้อย่างเป็นธรรมมากที่สุด


บางแห่งไม่ใช้คำว่า ประเมินผลแบบ 360 องศา แต่ใช้คำกว่า 360 องศา Feedback แทน เนื่องจากไม่ต้องการจะให้คนอื่นประเมิน แต่ต้องการให้คนอื่นให้ความเห็นที่มีต่อผลงาน และพฤติกรรมของพนักงานที่เขาทำงานด้วยแค่นั้น

อย่างไรก็ดีวัตถุประสงค์ของระบบนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการทำให้ผู้ประเมินมองเห็นภาพจากคนอื่น มุมอื่น ได้เห็นความคิดเห็นจากผู้อื่นที่ทำงานร่วมกันพนักงานคนนั้นๆ เพื่อที่จะได้มีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นในการประเมินผลงานพนักงานคนนั้น


แต่พอจะเอามาใช้งานจริงกลับมีปัญหา และข้อจำกัดค่อนข้างจะเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยอมรับในผลประเมินของคนอื่น ไม่ยอมรับกันตั้งแต่ผู้ประเมินเลยก็มี ก็เลยทำให้ระบบนี้จะต้องมีการตกลงคัดเลือกคนที่จะให้คะแนน หรือประเมินพนักงาน โดยพนักงานคนนั้น และหัวหน้าของเขาจะเป็นคนที่คุยกัน และตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นผู้ประเมินแบบ 360 องศาบ้าง ก็ทำให้เรื่องของการยอมรับนี้ดีขึ้น


หรือแม้กระทั่งการฮั้วกันของผู้ประเมิน เช่น ฉันประเมินให้ลูกน้องของเธอดีแล้วนะ เธอก็ต้องประเมินให้ลูกน้องของฉันดีด้วยนะ หรือ การที่ลูกน้องประเมินนาย ซึ่งยากมากที่จะให้ประเมินแบบตรงไปตรงมา เพราะลูกน้องมักจะต้องการจัดเต็มเวลาที่ได้มีโอกาสประเมินผลย้อนกลับขึ้นไปหาหัวหน้าของตนเอง เรียกได้กว่าทีใครทีมัน ก็เลยไม่ค่อยมีคนนิยมเอาระบบ 360 องศามาใช้ในการประเมินผลงาน เพื่อเอาไปประกอบการให้รางวัลกันมากนัก


การประเมินแบบ 360 องศาก็เลยนิยมเอามาใช้สำหรับการประเมินเพื่อที่จะเอามาเป็นเหตุผลในการพัฒนาพนักงานมากกว่า เช่น การให้ลูกน้องประเมินนายตัวเอง ก็เพื่อที่จะให้ข้อมูลในส่วนของทักษะในการบริหารจัดการคน หรือ Soft Skills ต่างๆ ที่ผู้จัดการปฏิบัติจริงในปีที่ผ่านมาว่า ในมุมมองของลูกน้องนั้น นายของตนเองยังต้องพัฒนาในเรื่องอะไรบ้าง เป็นต้น
ซึ่งพอเอามาใช้สำหรับการพัฒนาจริงๆ กลับกลายเป็นว่า เราได้ข้อมูลที่ดีจากทุกมุมมอง เป็นข้อมูลที่สามารถเอามาวางแผนการพัฒนาได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ก็เนื่องจากไม่มีผลประโยชน์อะไรตามมาในการประเมินนั่นเอง


ดังนั้นถ้าองค์กรของท่านกำลังจะเอาระบบ 360 องศามาใช้ ก็ขออนุญาตแนะนำว่า ให้เอามาใช้ในการหาข้อมูลสำหรับการพัฒนาพนักงานจะดีกว่า และใช้สำหรับการพิจารณาเรื่องของ Competency พฤติกรรมในการทำงานด้านต่างๆ รวมถึง Leadership ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่จับต้องเป็นตัวเลขไม่ได้ ต้องอาศัยการสังเกต การทำงานด้วยกัน และความรู้สึกพอสมควร


สิ่งที่ท้าทายตัวถัดไปก็คือ การออกแบบคำถามที่จะใช้ในการประเมิน ก็ต้องออกแบบให้มองเห็นภาพของพฤติกรรมจริงๆ ใน Competency แต่ละตัว ไม่ควรจะเป็นคำถามแบบกว้างๆ แล้วให้ผู้ประเมินตีความเอาเอง เช่น “ผู้ถูกประเมินเป็นคนที่มีจิตใจให้บริการ” แบบนี้กว้างเกินไป อาจจะต้องเจาะลงไปให้ชัดเจนกว่านี้ในมุมพฤติกรรม เช่น “ผู้ถูกประเมินเดินเข้าหาลูกค้าด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส และทักทายลูกค้าก่อน” เป็นต้น มันเห็นภาพในการประเมินมากกว่า เป็นคำถามที่เจาะจงลงไปในมุมพฤติกรรมที่เราต้องการจะเห็นในแต่ละ Competency นั่นเอง


ดังนั้นถ้าใครจะนำเอาระบบนี้มาใช้ ก็อยากแนะนำว่า ให้ใช้กับการพัฒนาก่อน อย่าเพิ่งใช้กับการประเมินผลงาน ที่ต้องเอาผลไปเชื่อมโยงกับระบบการให้รางวัล เพราะมันจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย และอย่าลืมอบรมผู้ประเมินให้ชัดเจนว่า เรากำลังประเมินไปเพื่อพัฒนา อยากได้ความเห็นเพื่อเอาไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาพนักงานได้ตรงจุดมากขึ้น
แล้วการประเมิน 360 องศา จะมีประโยชน์มากมายสำหรับการพัฒนาพนักงานในองค์กรของเรา

Cr.https://prakal.com/2021/07/13/%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9a%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%9a-360-%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a8%e0%b8%b2/